ผู้เขียน หัวข้อ: อยากได้ข้อมูลเกี่ยวกับ วิกฤตการค่าเงินบาทคับ  (อ่าน 1640 ครั้ง)

bremen

  • คนที่ไม่รู้ว่าใคร
Re: อยากได้ข้อมูลเกี่ยวกับ วิกฤตการค่าเงินบาทคับ
« ตอบกลับ #3 เมื่อ: สิงหาคม 16, 2007, 07:57:09 PM »
ขอบคุณมากคับ

pan0123

  • คนที่ไม่รู้ว่าใคร
Re: อยากได้ข้อมูลเกี่ยวกับ วิกฤตการค่าเงินบาทคับ
« ตอบกลับ #2 เมื่อ: สิงหาคม 15, 2007, 03:21:06 PM »
ประเทศใดก็ตามที่ได้รับผลกระทบจากภาวะวิกฤติย่อมไม่ประสงค์ที่จะประสบกับภาวะวิกฤติอีก ทว่าการป้องกันวิกฤติในหลายประเทศกลับล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง จากประสบการณ์ของโลกยุคปัจจุบันโดยเฉพาะอย่างยิ่งในละตินอเมริกานั้น ประเทศที่มีความอ่อนแอหรือดำเนินนโยบายผิดพลาดมักต้องเผชิญกับภาวะวิกฤติอีก ซึ่งในบรรดาประเทศเหล่านี้อาร์เจนตินาเป็นประเทศที่เด่นชัดที่สุดเพราะมีวิกฤติถึง 4 ครั้งในห้วงระยะเพียงสองทศวรรษเศษๆ เท่านั้น  หลายต่อหลายประเทศหาได้เผชิญวิกฤตการณ์เศรษฐกิจเพียงรอบเดียวไม่

                แม้ว่าปัญหาเงินทุนไหลออกอย่างฉับพลัน (Sudden stop) จะสร้างความบอบช้ำแก่ละตินอเมริกา ความอ่อนแอและความผิดพลาดต่างๆของการบริหารประเทศเช่นการก่อหนี้ต่างประเทศมากมายเกินกำลังเป็นมูลเหตุหลักของวิกฤติ วงการระหว่างประเทศจึงมิได้ตระหนักถึงความเสี่ยงอันเนื่องจากการเคลื่อนย้ายเงินทุนระหว่างประเทศมากนักเพราะมีสาเหตุมาจากความผิดพลาดภายในประเทศเป็นสำคัญ จนกระทั่งประเทศไทยต้องเผชิญวิกฤตการณ์เศรษฐกิจในปี 2540 แล้วระบาดต่อไปยังประเทศอื่นๆทั้งในภูมิภาคและนอกภูมิภาค การเคลื่อนไหวของเงินทุนระยะสั้นจึงเริ่มเป็นที่กังวลว่ามีพลังที่อาจสร้างความไร้เสถียรภาพได้ทั่วโลก

                เพราะจากประสบการณ์ของเอเชียนั้น แม้ในประเทศที่เจริญเติบโตในอัตราที่น่าพึงพอใจมาเป็นเวลานาน ก็อาจถูกโจมตีจากความไม่แน่นอนของเงินทุนระยะสั้น และเมื่อเกิดวิกฤตการณ์ขึ้นแล้ว นโยบายเศรษฐกิจของประเทศใดประเทศหนึ่งย่อมยากที่จะหยุดยั้งปัญหาวิกฤติอันเนื่องมาจากการเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็วของเงินทุนระยะสั้นได้

                ความจริงแล้วเงินทุนระยะสั้นจะไม่สร้างปัญหาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจเลย ถ้าหากมิได้ไหลเข้ามาพร้อมกันเป็นจำนวนมาก แล้วจากนั้นก็ไหลออกพร้อมๆกันแบบฉับพลันทันใด

                สำหรับเศรษฐกิจไทย ความเสียหายเกิดขึ้นอย่างหนักในช่วงปี 1997-1998 โดยต้องใช้ระยะเวลาในการฟื้นตัวหลายปี แม้จะได้ผ่านช่วงระยะที่เศรษฐกิจโลกขยายตัวในเกณฑ์สูงระยะหนึ่ง  แต่กลับต้องเข้าสู่ระยะของการเติบโตในอัตราที่ค่อนข้างต่ำหรือทรงตัวที่ประมาณร้อยละ 4-4.5 ติดต่อกันมาตั้งแต่ปี 2005

ถ้าการขยายตัวมีแนวโน้มต่ำต่อไปในอีก 2-3 ปีข้างหน้าโดยที่มีความไม่มั่นคงทางการเมืองเรื้อรัง การมาเยือนของวิกฤตเศรษฐกิจรอบใหม่จะมีความเป็นไปได้สูง

                ความจริง แนวโน้มเศรษฐกิจขาลงนี้เป็นสัญญาณสำคัญประการหนึ่งของวิกฤตการณ์เศรษฐกิจแต่โชคดีมากที่อัตราดอกเบี้ยในต่างประเทศหรือค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯมิได้มีทิศทางขาขึ้นอย่างในช่วง1995 ที่เม็กซิโกเริ่มถูกทดสอบเป็นรายแรก

                ภาครัฐควรตั้งคำถามกับตนเองว่านับจากวิกฤตการณ์ปี 2540 การเคลื่อนย้ายเงินทุนอยู่ในสภาพที่จะสามารถบริหารจัดการได้จริงเพียงไร และบทเรียนในอดีตได้นำไปความพยายามป้องกันมิให้เกิดวิกฤตการณ์อีกหรือไม่

ทุนและการกระเพื่อมของทุน
                โดยเปรียบเทียบกับประเทศกำลังพัฒนาแล้ว เศรษฐกิจไทยมีโครงสร้างของการนำเข้าเงินทุนจากต่างประเทศที่เริ่มพึ่งการลงทุนในหลักทรัพย์มากกว่าการก่อหนี้ ซึ่งแตกต่างจากช่วงก่อนวิกฤตการณ์และประเทศกำลังพัฒนาทั่วๆไปซึ่งมักพึ่งการก่อหนี้เป็นอันมาก

                เมื่อพิจารณาจากตัวเลขเงินทุนไหลเข้าเบื้องต้น (Gross capital inflows) ของภาคเอกชนที่มิใช่ธนาคาร (ตารางที่ 1) ก่อนวิกฤตการณ์ค่าเงินบาท (1990-1996) การนำเข้าเงินทุนมีองค์ประกอบที่เป็นการก่อหนี้ถึงร้อยละ 60 ของเงินทุนไหลเข้าทั้งสามประเภทคือการลงทุนทางตรง การลงทุนในหลักทรัพย์ และการก่อหนี้รวมกัน

                การก่อหนี้มีมูลค่าต่ำกว่าที่เคยเป็นก่อนวิกฤตการณ์โดยมีสัดส่วนที่ลดลงเหลือประมาณร้อยละ 18 ในช่วงปี 2005-2006 จึงนับว่าถ้าสภาพยังเป็นเช่นนี้ปัญหาการเคลื่อนย้ายเงินทุนยังอยู่ในระดับที่น่าจะบริหารได้ไม่ยากนัก

                อย่างไรก็ตาม โครงสร้างนี้อาจเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากมายในอนาคตหรือเมื่ออัตราแลกเปลี่ยน และอัตราดอกเบี้ยเข้าสู่อัตราปกติที่ทางการแทรกแซงได้น้อยลงในระยะยาว อัตราดอกเบี้ยภายในประเทศที่ต่ำนับตั้งแต่ครึ่งหลังของปี 1998 ทำให้ผู้ประกอบการมีแรงจูงใจในการกู้เงินจากแหล่งภายในประเทศแทนการกู้ยืมจากต่างประเทศลงรวมทั้งมีต้นทุนต่ำลงในการคืนเงินกู้ต่างประเทศด้วย

                สถานการณ์นี้จะเปลี่ยนแปลงไป ถ้าอัตราดอกเบี้ยภายในประเทศต้องเพิ่มสูงขึ้นในอนาคตตามภาวะเงินเฟ้อที่สูงขึ้นอันเนื่องมาจากนโยบายอัตราดอกเบี้ยและอัตราแลกเปลี่ยนตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา

                นอกจากนี้หนี้ต่างประเทศเริ่มมีสัดส่วนของหนี้ระยะสั้นสูงถึงร้อยละ 34.8 ในปี 2006 เทียบกับเฉลี่ยประมาณร้อยละ 20.6 ระหว่างช่วงปี 1999-2004 หรือร้อยละ 43.9 ในปี 1996 อันเป็นปีก่อนเข้าสู่วิกฤต สัดส่วนนี้ถือว่าค่อนข้างสูงมากเมื่อเปรียบเทียบกับหลายๆประเทศ

                ในแง่ของความแปรปรวน เงินทุนไหลเข้าที่มีความแปรปรวนมากที่สุดได้แก่การลงทุนในหลักทรัพย์ (โดยพิจารณาจากค่าความเบี่ยงเบนมาตรฐานหารด้วยค่าเฉลี่ยของตัวเลขสัดส่วนเงินทุนไหลเข้าเทียบกับ GDP ดังปรากฎในตารางที่ 2)   ส่วนการลงทุนทางตรงมีความแปรปรวนที่ต่ำและคงเส้นคงวา ไม่สร้างปัญหาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ (แม้ในยามที่เกิดวิกฤตการณ์ค่าเงินบาท)

โดยทั่วไป ค่าความแปรปรวนเหล่านี้นับว่าไม่สูงนักเมื่อเทียบกับประเทศตลาดเกิดใหม่ซึ่งมีนัยว่าเงินทุนไหลเข้ายังค่อนข้างสงบ มิได้ส่งสัญญาณที่เป็นปัญหาว่าจะต้องมีการควบคุมเงินทุนระยะสั้นโดยเร็ว

 ประเด็นที่ควรระมัดระวังนั้นอยู่ที่การค่อยๆทำให้การก่อหนี้ต่างประเทศมีสัดส่วนของเงินทุนระยะสั้นลดลง และการทำให้การลงทุนในหลักทรัพย์ให้น้ำหนักกับปัจจัยพื้นฐานระยะยาวมากขึ้น

ความพยายามทางนโยบาย
                ความจริงแล้ว นับจากวิกฤตการณ์ปี 2540 ได้มีความพยายามปรับปรุงระบบสถาบันการเงินให้เข้มแข็งอยู่บ้าง เช่นการจัดตั้งสถาบันประกันเงินฝากและการเพิ่มมาตรฐานการดำรงเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง  ทางด้านตลาดทุนก็มีแนวทางที่จะเพิ่มจำนวนบริษัทจดทะเบียนให้มากขึ้น

                แนวทางเหล่านี้มีความสำคัญในการป้องกันวิกฤตการณ์ในอนาคตแต่ยังมิได้ดำเนินไปอย่างรวดเร็วเท่าที่ควร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตลาดทุนที่พึ่งสิทธิประโยชน์ทางภาษีจากรัฐและมิได้มีเครื่องมือใหม่ๆในการปรับปรุงธรรมาภิบาลของภาคเอกชนอย่างจริงจัง

                ความอ่อนแอของสถาบันการเงินภายในประเทศ และความอ่อนแอในธรรมาภิบาลเช่นการฉ้อราษฎร์บังหลวงเป็นปัญหาพื้นฐานที่ทำให้เงินทุนต่างประเทศไม่สามารถกระจายไปสู่กิจกรรมการผลิตที่มีประสิทธิภาพ จำต้องกระจุกอยู่ในธุรกิจเก็งกำไรระยะสั้นที่เห็นผลเร็วแต่จะสร้างความเสียหายเมื่อวัฎจักรธุรกิจเข้าสู่ทิศทางขาลงหรือมีความเสี่ยงทางการเมืองเกิดขึ้น

                ทางด้านเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ นโยบายค่าเงินต่ำนั้นเคยมีความจำเป็นในช่วงที่ประเทศประสบภาวะวิกฤตใหม่ๆและยังเผชิญปัญหาการขาดแคลนสภาพคล่อง เป็นที่น่าเสียดายที่ทางการดำเนินนโยบายนี้ยาวนานเกินไปจนกลายเป็นความเคยชินที่ภาคส่งออกจะต้องได้รับความช่วยเหลือจากรัฐให้ขยายตัวได้โดยง่ายแม้ในช่วงที่เศรษฐกิจโลกเติบโตได้ดี

ในแง่ของการป้องกันวิกฤตการณ์เศรษฐกิจ การแทรกแซงอัตราแลกเปลี่ยนเพื่ออุดหนุนการส่งออก (Exchange rate subsidy) ส่งผลกระทบที่ต้องระมัดระวังเป็นอย่างยิ่ง

                การแทรกแซงค่าเงินบาทดังเช่นในช่วงปี 2545 เป็นต้นมาเป็นการเพิ่มพูนทุนสำรองระหว่างประเทศอย่างรวดเร็ว ในแง่หนึ่งทุนสำรองที่เพิ่มพูนขึ้นนี้อาจถือเป็นสภาพคล่องที่จะช่วยหลีกเลี่ยงแรงกดดันจากการถูกโจมตีค่าเงินในอนาคตอันใกล้ ซึ่งก็เป็นปฏิกิริยาปรกติของประเทศที่เคยถูกโจมตีค่าเงินแต่ยังต้องการกระตุ้นการส่งออกและรักษาระบบอัตราแลกเปลี่ยนที่ค่อนข้างคงที่

แน่นอนว่าประเทศเหล่านี้ไม่สามารถคาดหวังการปฏิรูประบบการเงินโลกว่าจะเกิดขึ้นเพื่อป้องกันปัญหาจากเงินทุนระยะสั้นได้ในระดับโลก จำต้องสะสมทุนสำรองมากขึ้นกว่าในอดีต

                ปัญหาคือในอีกด้านหนึ่ง ปฏิกิริยาดังกล่าวนี้สร้างต้นทุนต่ออนาคตของระบบเศรษฐกิจที่จะต้องสะสมทุมสำรองเป็นจำนวนมากมายและทำให้เกิดสภาพคล่องล้นเกินในระยะปัจจุบันที่มีผลต่อคุณภาพของโครงการลงทุน

 ยิ่งไปกว่านั้นทางการเองก็ยากที่จะทำให้ค่าเงินภายในประเทศต่ำเพื่อช่วยอุดหนุนภาคส่งออกให้ได้เปรียบทางราคาได้โดยไม่จบสิ้น

                ทิศทางค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มอ่อนค่าอย่างต่อเนื่อง หรือเร่งตัวมากขึ้นเป็นปัจจัยที่เร่งความต้องการถือสินทรัพย์ที่มิใช่สกุลดอลลาร์สหรัฐและท้าทายนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนของไทยที่ต้องการรักษาค่าเงินให้ใกล้เคียงว่าจะสามารถฝืนทิศทางระยะยาวได้อย่างไร ในท้ายที่สุดการแทรกแซงที่มากเกินไปของธนาคารแห่งประเทศไทยกลายเป็นการกระตุ้นให้เงินทุนระยะสั้นให้ไหลเข้ามาเก็งกำไรอย่างรุนแรงมากขึ้น จนกระทั่งเมื่อไม่สามารถรักษาอัตราแลกเปลี่ยนไว้ได้ ธนาคารแห่งประเทศไทยก็จะขาดทุนทางบัญชีเพราะต้องซื้อเงินเหรียญสหรัฐไว้เป็นจำนวนมากในราคาที่แพงเกินไป

นี่คือแรงกดดันที่นำไปสู่มาตรการสกัดกั้นการเก็งกำไรที่ให้เริ่มบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 19 ธันวาคม 2549 อันเป็นความพยายามเพิ่มระดับการรักษาเสถียรภาพค่าเงินที่ทั้งเสี่ยงและรุนแรง


bremen

  • คนที่ไม่รู้ว่าใคร
อยากได้ข้อมูลเกี่ยวกับ วิกฤตการค่าเงินบาทคับ
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: สิงหาคม 13, 2007, 07:13:13 PM »
อยากได้ข้อมูลเกี่ยวกับ วิกฤตการค่าเงินบาทคับจะเอาไปทำรายงานอ่ะคับ ช่วยหน่อยนะคับเพื่อนๆ